เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์1

ว่าด้วยความเชื่อถือว่า เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น อธิบายว่า
พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยมรรคอื่น
คือ มรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน
สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ 8 รวมความว่า
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น
คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือ
การเห็นรูปบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เห็นรูปที่สมมติว่า เป็นมงคลยิ่ง คือ
เห็นนกแอ่นลม ผลมะตูมอ่อนเกิดในบุษยฤกษ์2 หญิงมีครรภ์ เด็กเล็กที่ขี่คอคนไป
หม้อมีน้ำเต็ม ปลาตะเพียนแดง ม้าอาชาไนย รถเทียมม้าอาชาไนย โคผู้ โคแดง
ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/525/436
2 บุษยฤกษ์ คือชื่อของดาวฤกษ์บุษยะ มี 5 ดวง (1) ดาวปุยฝ้าย (2) ดาวพวงดอกไม้ (3) ดาวดอกบัว
(4) ดาวโลง (5) ดาวสมอสำเภา หรือดาวสิธยะ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525, หน้า 483)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :105 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 4. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นลอมฟาง หม้อเปรียง หม้อเปล่า นักฟ้อน
สมณะเปลือย ลา ยานเทียมด้วยลา ยานเทียมด้วยสัตว์พาหนะตัวเดียว คนตาบอด
คนง่อย คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไป ด้วยรูปที่เห็นแล้ว
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยิน สมณพราหมณ์
เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งว่า
เจริญแล้ว กำลังเจริญ เต็ม ขาว ไม่เศร้าโศก ใจดี ฤกษ์ดี มงคลดี มีสิริ หรือว่าเจริญศรี
ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงว่าคนตาบอด คนง่อย
คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถูกตัด ถูกทุบ ถูกไฟไหม้ ของหาย หรือ
ว่าไม่มี ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนั้นว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่า
นี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ด้วยการได้ยินเสียง
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป ด้วยเหตุเพียงศีล คือ ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ
สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ละเมิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :106 }